สรุปซื้อประกันแบบไหน ได้ลดหย่อนภาษี

ค่าลดหย่อนภาษี คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง หรืออาจช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็เป็นตัวเลือกยอดฮิตที่เรามักเลือกทำเพื่อลดหย่อนภาษี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องความคุ้มครองชีวิต และความเสี่ยงจากการลงทุนต่ำ วันนี้เรามาดูกันค่ะว่าซื้อประกันแบบไหน ถึงได้สิทธิลดหย่อนภาษี
ประเภทของประกันที่ลดหย่อนภาษีได้ มี 2 ประเภท
ประกันชีวิต แบ่งได้เป็นแบบทั่วไป และแบบบำนาญ
ประกันสุขภาพ แบ่งได้เป็นสำหรับตัวเอง และสำหรับพ่อแม่
- ประกันชีวิตทั่วไป

ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ โดยหากผู้ทำประกันเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินตามทุนประกันให้กับครอบครัว
ประกันชีวิตทั่วไป มีแบบไหนบ้าง?
1.1 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
เน้นความคุ้มครองชีวิตตลอดชีพ คือคุ้มครองยาวถึงอายุ 80-99 ปี เป็นแบบประกันที่มีเงินออม แต่ก็เน้นไปที่ความคุ้มครองเป็นหลัก คือได้รับเงินก้อนเมื่อเสียชีวิต และเมื่ออยู่ครบสัญญามีเงินคืนแต่ได้ในจำนวนน้อย
1.2 ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
เป็นแบบประกันที่บี้ย “ถูกที่สุด” ให้คุ้มครองสูงในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี ไม่มีเงินออมเน้นที่ความคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว เมื่อครบสัญญาไม่มีเงินคืน
1.3 ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
เป็นแบบประกันที่มีเงินออม เลือกระยะความคุ้มครองได้หลากหลาย ส่วนมากจะเป็นระยะยาวคือ 10-20 ปีขึ้นไป เน้นไปที่การออมเงินจึงได้ความคุ้มครองต่ำ แต่มีเงินคืนเมื่ออยู่ครบสัญญา และบางแบบมีเงินคืนระหว่างสัญญาด้วย
1.4 ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked)
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองควบรวมการลงทุนในกองทุนรวม ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากกว่าแบบประกันทั่วไป แต่ไม่ได้มีการการันตีผลตอบแทน ให้ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันถูก

สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของประกันชีวิตแบบทั่วไป
ตัวเอง : ประกันชีวิตแบบทั่วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 100,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วก็ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
คู่สมรส : นำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 10,000 บาท โดยต้องเป็นคู่สมรสที่ “ไม่มีรายได้” และจดทะเบียนสมรสกันมาทั้งปีภาษีแล้วเท่านั้น
เงื่อนไข : ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
หากมีการจ่ายเงินคืนในทุกปีระหว่างสัญญา เงินคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปีที่เราจ่าย
หากมีการจ่ายเงินคืนตามช่วงระยะเวลา (เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี) เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา
เพื่อความแน่ใจในเงื่อนไขของแต่ละแบบประกัน ควรสอบถามรายละเอียดกับบริษัทก่อนซื้อ ว่าแบบประกันที่เราต้องการซื้อนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้หรือเปล่า

ถ้ายกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะเป็นยังไง
เราจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีก และต้องจ่ายคืนภาษีย้อนหลังของทุก ๆ ปีที่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนไป พร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย

ประกันชีวิตแบบ Unit Link เอามาใช้ลดหย่อนภาษีได้มั้ย
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เป็นบางส่วนของเบี้ยที่เราจ่าย เพราะ Unit Link เป็นประกันชีวิตที่มีส่วนของการลงทุนในกองทุนรวมด้วย เราไม่สามารถนำส่วนที่ลงทุนมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยในเบี้ย 1 ก้อนที่เราจ่ายไปจะประกอบด้วย
- ค่าการประกันภัยเป็นส่วนค่าความคุ้มครองชีวิตตามทุนประกันที่เราเลือก เหมือนกับการซื้อประกันชีวิตทั่วไป
- ค่าใช้จ่ายหลักอื่น ๆ ของกรมธรรม์เช่น ค่าดำเนินการ ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ เป็นต้น
- ส่วนของการลงทุนซึ่งเป็นเบี้ยส่วนที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายข้างต้นเพื่อนำไปจัดสรรลงทุนในหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตามสัดส่วนที่เราต้องการ
ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้คือส่วนที่ 1 และ 2 ที่มีระยะความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปเท่านั้น (ลดหย่อนได้ตามจริงที่จ่าย เมื่อกับประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่เกิน 100,000 บาท)
2.ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ความคุ้มครองในรูปแบบการการันตีรายได้หลังเกษียณ เน้นการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ โดยจะมีกำหนดให้จ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องไปจนกว่าจะเริ่มรับเงินบำนาญ (อย่างน้อยสุดเมื่ออายุ 55 ปี) แล้วจะการันตีเงินเกษียณเป็นงวดรายปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบสัญญา
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของประกันบำนาญ
ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
หรือ…ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท หากยังไม่มีประกันชีวิตแบบทั่วไป คือสามารถใช้เบี้ยประกันแบบบำนาญแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ 100,000 บ.
และ…เมื่อรวมกับ RMF / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน / กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการนำประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษี
ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ กำหนดช่วงอายุการจ่ายเงินเป็น 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น และเราต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์
3. ประกันสุขภาพตัวเอง

ประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองสุขภาพ ทั้งกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ และด้วยอุบัติเหตุ รวมถึงประกันโรคร้ายแรงและทุพพลภาพ
ประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีอะไรบ้าง
- ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บปวดและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะและการแตกหักของกระดูก
- ประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long-Term Care)

สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของประกันสุขภาพ
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี (เพิ่มจากเดิมที่ได้เพียง 15,000 บาทต่อปี)
ประกันโควิดก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ได้เช่นกัน
ประกันสุขภาพที่ซื้อพ่วงกับประกันชีวิตแบบ Unit-Link ก็จะนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน แต่แค่เฉพาะส่วนที่เป็นประกันสุขภาพเท่านั้น โดยเมื่อรวมเบี้ยประกันสุขภาพเข้ากับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. ประกันสุขภาพของพ่อแม่

สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของประกันสุขภาพพ่อแม่
ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปี
ถ้าแบ่งจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่กับพี่น้องตัวเอง จะสามารถลดหย่อนได้สูงสุดตามจำนวนยอดเงินหารเฉลี่ยด้วยจำนวนพี่น้องที่ร่วมจ่าย (เช่น จ่าย 15,000 ร่วมกันจ่ายกับพี่น้อง 3 คน ลดหย่อนต่อคนสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท)
ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้ เบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่คู่สมรสก็นำไปใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปีเช่นกัน

เงื่อนไขการนำประกันสุขภาพของพ่อแม่มาลดหย่อนภาษี
ตัวเรา/คู่สมรส ต้องเป็นลูกแท้ ๆ ตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่ได้) และพ่อแม่ต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้นๆ
ตั้งแต่ปี 2561 หากมีการยินยอมให้บริษัทประกันเปิดเผยข้อมูลของเราต่อสรรพากร บริษัทประกันที่เราทำจะนำส่งข้อมูลการซื้อประกันของเราเข้าไปที่สรรพากร ภายในวันที่ 7 มกราคมของทุกๆ ปี
เพื่อความมั่นใจ ควรตรวจสอบรายละเอียดแบบประกันและเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีกับตัวแทนก่อนซื้อนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก finnomena